เครื่องปรับอากาศและตู้เย็นเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยชีวิตในยามคลื่นความร้อนแผดเผา ป้องกันอาหารและวัคซีนจากการเน่าเสีย และเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตในประเทศไทยซึ่งมีสภาพอากาศร้อนชื้น อย่างไรก็ตาม การรักษาสภาพอากาศภายในอาคารให้เย็นสบายนั้นกลับมีผลทำให้สภาพอากาศภายนอกร้อนขึ้นอย่างเห็นได้ชัด การรับมือกับการเพิ่มอุณหภูมิโลกที่เกิดจากการใช้เครื่องปรับอากาศและตู้เย็นจึงกลายเป็นความท้าทายอย่างยิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน
Click here to read this article in English.
วงจรอุบาทว์ของการทำความร้อน-ความเย็น
เครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นมีผลต่อการทำให้โลกร้อนโดยที่เรานึกไม่ถึง ไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศไทยกว่าร้อยละ 70 ผลิตจากก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และน้ำมันเตา การใช้เครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นนำไปสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้
เครื่องปรับอากาศสามารถลดอุณหภูมิภายในอาคารและรถยนต์โดยการส่งผ่านความร้อนจากภายในสู่ภายนอก ในขณะที่ตู้เย็นก็ใช้หลักการเดียวกันกับอากาศที่อยู่รอบตัว หากติดตั้งภายในอาคารที่มีเครื่องปรับอากาศ เครื่องปรับอากาศนั้นจะต้องทำงานหนักยิ่งขึ้นเพื่อกำจัดความร้อนที่ถูกปลดปล่อยออกมาจากตู้เย็น โดยจะสูบความร้อนออกมามากพอที่จะทำให้อุณภูมิของเมืองทั้งเมืองเพิ่มขึ้นหลายองศา (ดูรูปที่ 1)
|
นอกจากนี้ เมื่อเรากำจัดเครื่องปรับอากาศหรือตู้เย็นเก่า สารทำความเย็นที่เป็นสารเคมีมักจะรั่วไหลและระเหยออกไป บางส่วนยังรั่วไหลออกมาระหว่างการผลิต การขนส่ง การซ่อมบำรุง และการใช้งานในชีวิตประจำวัน สารทำความเย็น(หรือน้ำยาแอร์)เหล่านี้เป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีศักยภาพในการดักจับความร้อนของโลกมากกว่า CO2 หลายพันเท่า ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นไปอีกถึงร้อยละ 90 นอกเหนือจากภาวะโลกร้อนจาก CO2 ที่เกิดจากการใช้ไฟฟ้าในการเปิดเครื่องปรับอากาศ
ในขณะที่อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เรามีการใช้เครื่องปรับอากาศมากขึ้น และตู้เย็นของเราก็ทำงานหนักขึ้นเพื่อรักษาความเย็น ซึ่งส่งผลทำให้โลกของเราร้อนขึ้น กลายเป็นวัฏจักรที่เลวร้ายและจะเลวร้ายลงเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้เพิ่มขึ้นและผู้คนจำนวนมากขึ้นสามารถซื้อเครื่องปรับอากาศและตู้เย็นมากขึ้น
ในประเทศไทย เครื่องทำความเย็นและเครื่องปรับอากาศใช้ไฟฟ้าประมาณ 50% ของการใช้งานไฟฟ้าทั้งหมดในประเทศ หากปล่อยให้สถานการณ์ดำเนินไปโดยไม่มีการดำเนินการใด ๆ “ความต้องการนี้จะเพิ่มขึ้นสามเท่าภายในปี 2573”
ทั่วโลกกำลังเผชิญกับแนวโน้มที่คล้ายกัน การใช้พลังงานจากเครื่องปรับอากาศของโลกจะพุ่งสูงขึ้นกว่าสามเท่าภายในปี 2593 ซึ่งเทียบเท่ากับการใช้ไฟฟ้าของทั้งประเทศจีนในปัจจุบัน สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency) มองการเติบโตที่น่าตกใจของการใช้ไฟฟ้าเพื่อการทำความเย็นเป็น “หนึ่งในความท้าทายด้านพลังงานที่สำคัญที่สุดแต่มักถูกมองข้ามในยุคสมัยของเรา”
กลยุทธ์เพื่อสร้างการรับรู้ของประชาชนและการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม
เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบร้ายแรงต่อชีวิตที่อาจเกิดขึ้นทั่วโลก เราจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้บริโภค เพื่อร่วมกันดำเนินการตามแนวทางดังต่อไปนี้
- เราในฐานะผู้บริโภคจะต้องใช้ตู้เย็นและเครื่องปรับอากาศที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ประเทศไทยเคยเป็นผู้นำด้านการติดฉลากเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่โครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ต้องการการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาเทคโนโลยีที่ไม่หยุดยั้ง (ดูรูปที่ 2) ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพน้อยกว่ามักจะเลือกไม่ติดฉลาก เพื่อให้โครงการมีประสิทธิภาพมากขึ้น รัฐบาลจำเป็นต้องออกมาตรฐานอุปกรณ์และมาตรฐานการติดฉลาก เพื่อให้ผู้ผลิตต้องปฏิบัติตามและเปิดเผยข้อมูลการใช้พลังงานเพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลในการตัดสินใจเมื่อเลือกซื้อตู้เย็นหรือเครื่องปรับอากาศ มาตรการนี้ควรครอบคลุมถึงตู้เย็นที่แช่น้ำอัดลมหรือตู้แช่ไอศกรีมที่เจ้าของร้านค้าและ/หรือร้านอาหารสามารถยืมใช้ได้ฟรี เนื่องจากตู้แช่เหล่านี้มีประสิทธิภาพที่ต่ำเลวร้ายมาก ๆ ควรมีการตั้งมาตรฐานขั้นต่ำเพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการร้านค้าต้องรับภาระค่าไฟฟ้าสูงโดยไม่รู้ตัว[1]
- ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานคาร์บอนต่ำ ซึ่งหมายถึงการยุติการใช้ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติในการผลิตพลังงาน พร้อมกับการลงทุนอย่างจริงจังในด้านประสิทธิภาพพลังงาน พลังงานหมุนเวียนและการจัดเก็บพลังงาน
- เมื่อเราตัดสินใจปลดระวางตู้เย็นหรือเครื่องปรับอากาศเก่า เราจะต้องจัดเก็บ รีไซเคิลหรือทำลายสารทำความเย็น และไม่ปล่อยให้รั่วไหลออกสู่ชั้นบรรยากาศอย่างที่มีการทำอยู่ในปัจจุบัน
- ภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อเร่งการเปลี่ยนไปใช้สารทำความเย็นที่ไม่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนอย่างรุนแรง ที่ผ่านมาเราได้เลิกใช้ฟรีออน หรือ คลอโรฟลูออโรคอาร์บอน (CFCs) ที่มีศักยภาพในการกักเก็บความร้อนมากกว่า CO2 ถึง 10,000 เท่า แต่สารทำความเย็นที่ใช้กันอย่างแพร่หลายที่สุดในประเทศไทยในปัจจุบัน ได้แก่ ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HCF) และ ไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (HCFC) หรือที่รู้จักในเชิงพาณิชย์ในชื่อ R32, R22 และ R400s ยังคงมีศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนมากกว่า CO2ถึง 675–2,000 เท่า โชคดีที่สารทำความเย็นไฮโดรคาร์บอน (HC) ที่มีค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนเพียงแค่สามเท่า เริ่มมีการวางจำหน่ายในตลาดแล้ว ควรมีการให้ข้อมูลเรื่องผลกระทบภาวะโลกร้อน (โดยอาจทำผ่านฉลากสารทำความเย็นดังแสดงในรูปที่ 3) และการสนับสนุนเพื่อเร่งกระบวนการเปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้สารเคมีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น (หรือที่เรียกว่า R290/R600a) (ดูตารางที่ 1) โดยอุปกรณ์ต้องมีมาตรการความปลอดภัยเพิ่มเติม เนื่องจากสารดังกล่าวมีความไวไฟ ช่างที่ติดตั้งอุปกรณ์ จึงต้องมีการอบรมเพิ่มเติม
- เรายังจำเป็นต้องหาวิธีลดการใช้เครื่องปรับอากาศ ซึ่งหนึ่งในวิธีที่สามารถทำได้ คือ การใช้พัดลมในช่วงที่อากาศไม่ร้อนจนเกินไป นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีทำความเย็นอื่น ๆ ที่ไม่ต้องพึ่งพาสารทำความเย็นซึ่งก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน ได้แก่ การทำความเย็นแบบระเหย เครื่องปรับอากาศที่ใช้สารดูดความชื้น [2] และเครื่องปรับอากาศแบบสะท้อนแสงและแบบแผ่รังสี เป็นต้น
- การทำให้อาคารและบ้านเย็นลงสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การทาสีหลังคาและส่วนหน้าอาคารเป็นสีขาวมันวาวเพื่อสะท้อนความร้อน การทำหลังคาให้เป็นหลังคาสีเขียว โดยใช้พืชและดินที่สะท้อน ห่อหุ้ม และระเหย การติดตั้งหน้าต่างฝั่งตรงข้ามกันของอาคาร เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก การใช้วัสดุในการกันความร้อนสำหรับหลังคาและผนังเพื่อกันความร้อน และการเพิ่มร่มเงาโดยการใช้กันสาดหรือต้นไม้เพื่อป้องกันแสงแดดที่เข้าถึงผนังและหน้าต่าง นอกจากนั้น เรายังต้องออกแบบเมืองใหม่เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและต้นไม้ที่สร้างร่มเงา เพื่อให้อากาศร้อนผสมกับอากาศเย็น และทำให้อากาศเย็นลงผ่านการระเหย (ดูรูปที่ 4)
โลกของเรากำลังยืนอยู่บนทางสองแพร่ง เราไม่ควรตอบสนองความต้องการในการทำความเย็นที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุดและไม่สามารถควบคุมได้ แต่ควรร่วมมือกันอย่างแข็งขันเพื่อใช้เครื่องปรับอากาศ และเครื่องทำความเย็น ได้อย่างประหยัด มีประสิทธิภาพที่สุดและ หลีกเลี่ยงไม่ให้โลกของเราร้อนระอุไปมากกว่านี้
หมายเหตุ
[1] จากการวัดด้วยอุปกรณ์วัดของผู้เขียนเอง พบว่าตู้เย็นเอส โคล่าแบบจอแก้ว ทำงานในระดับคงที่ (โดยไม่มีการหยุดเครื่องคอมเพรสเซอร์) โดยใช้พลังงาน 10.1 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อวัน คิดเป็นค่าไฟประมาณ 54 บาทต่อวัน หรือ 1,600 บาทต่อเดือน (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ทั่วประเทศมีตู้เย็น เอส โคล่า ประเภทนี้ 150,000 ตู้ โดยใช้สารทำความเย็น R-400s ซึ่งมีศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนมากกว่า CO2ถึง 1,000–3,000 เท่า โดยแบรนด์อื่น ๆ เช่น โคคา-โคล่า และ เป๊ปซี่ รวมถึงบริษัทผลิตเบียร์และไอศกรีม ก็ใช้ตู้เย็นที่คล้ายกันทั่วประเทศ
[2] ดูการนำเสนอของ National Renewable Energy Laboratory (NREL) เกี่ยวกับ เครื่องปรับอากาศแบบระเหยที่เพิ่มประสิทธิภาพด้วยสารดูดความชื้น; บทความของ Abdelgaied, M., Saber, M.A., Bassuoni, M.M. และคณะ เกี่ยวกับเครื่องปรับอากาศแบบดูดซับ: การทบทวนที่ครอบคลุมเกี่ยวกับวัสดุดูดความชื้น ความคืบหน้าของระบบ และการศึกษาล่าสุดเกี่ยวกับการกำหนดค่าต่าง ๆ ของเครื่องปรับอากาศแบบดูดความชื้นแบบไฮบริด; และ เครื่องปรับอากาศปฏิวัติวงการ! ของ Tech Ingredients สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
__
ชื่นชม สง่าราศรี กรีเซน เป็นนักวิเคราะห์พลังงานอิสระและผู้ร่วมก่อตั้งพลังไทย ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ดำเนินการวิจัยเพื่อสาธารณประโยชน์และทำงานเพื่อการพัฒนาภาคพลังงานในประเทศไทยและภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอย่างยุติธรรม ยั่งยืน และเป็นประชาธิปไตย
ความคิดเห็นที่แสดงในบทความนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นความคิดเห็นของไฮน์ริช บอลล์ ชติฟตุงเสมอไป