อนาคตของพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศไทย?

บทความ

ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากสุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงจำเป็นต้องตัดสินใจอย่างเร่งด่วนเกี่ยวกับการผลิตพลังงาน แม้ว่าพลังงานนิวเคลียร์จะได้รับความนิยมน้อยลง แต่มีการถกเถียงมาเป็นเวลานานในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ของพลังงานดังกล่าว

Illustration2.jpg

เกริ่นนำ

ประเทศไทยมีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ โดยมีความพยายามหลายครั้งที่จะใช้แหล่งพลังงานนี้ แม้จะยังไม่สามารถทำได้สำเร็จ ในครั้งแรกเป็นความพยายามก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ขนาด 600 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบน้ำเดือด (BWR) ในปี 2509 ที่อ่าวไผ่ จังหวัดชลบุรี[1] แต่ต้องพับโครงการนี้ไปเนื่องจากแรงต่อต้านของประชาชน[2] ความกังวลเกี่ยวกับต้นทุน[3] และการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยในช่วงทศวรรษ 1970[4] ทำให้ประเทศมีแหล่งพลังงานทางเลือกในช่วงทศวรรษ 1970-1980 แต่การสนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์ได้เริ่มขึ้นใหม่ในช่วงทศวรรษ 2000

นับเป็นครั้งแรกที่มีการบรรจุโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ขนาด 2,000 เมกะวัตต์ ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า 2550 (PDP 2550) ในเดือนพฤษภาคม 2552 มีการปรับปรุงแผนดังกล่าว โดยระบุว่าเป็น “ความต้องการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย"[5]

แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้ามักมีการปรับปรุงทุกสามหรือสี่ปี ในแผน PDP 2553 (2553-2573) ยังบรรจุแผนที่จะเริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกและแห่งที่สองในระหว่างปี 2563-2564 ดังที่แหล่งข้อมูลซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ข้อมูลว่า 

คณะกรรมการนโยบาย​พลังงานแห่งชาติของไทย ได้จัดให้มีการศึกษาความเป็นไปได้สำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศ และได้อนุมัติแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าสำหรับปี 2550-2564 ในปี 2550 โดยรวมถึงการพัฒนาการผลิตพลังงานนิวเคลียร์ 4000 เมกะวัตต์ไฟฟ้า ระหว่างปี 2563-2564 แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ปี 2553-2573 ได้รับความเห็นชอบในปี 2553 โดยกำหนดให้มีหน่วยผลิตห้าหน่วย ที่มีกำลังผลิตหน่วยละ 1000 เมกะวัตต์ไฟฟ้า ระหว่างปี 2563-2571”[6]

แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าทุกฉบับตั้งแต่ปี 2550 ยังคงบรรจุแผนการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่มีการตัดออกไปจากแผนล่าสุดคือ PDP 2561 (ปรับปรุงครั้งที่ 1: 2561-2560)

ความเป็นมาของแผนพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย[7]

2509

  • กฟผ.เสนอโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกของไทย

2517

  • มีการให้ความเห็นชอบต่อการเสนอโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ขนาด 350-500 เมกะวัตต์ที่อ่าวไผ่ จังหวัดชลบุรี
  • มีการชะลอโครงการเนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติลดลง

2520

  • กฟผ.เสนอโครงการใหม่ และได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาล
  • แรงต่อต้านจากประชาชนและในระดับโลกทำให้มีการยกเลิกโครงการอีกครั้ง

2536

  • สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติเสนอโครงการเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย (5-10 เมกะวัตต์) อ.องครักษ์ จ.นครนายก

2536-2546

  • แผนก่อสร้างที่ อ.องครักษ์ ต้องหยุดลงหลายครั้ง เนื่องจากปัญหาความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม
  • บริษัท General Atomics จากสหรัฐฯ ได้ลงนามในสัญญาก่อสร้าง ขู่จะฟ้องคดีหากมีการชะลอโครงการ

2550

  • แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2550 (PDP 2550-2564) เสนอให้มีการผลิตพลังงานนิวเคลียร์ภายในปี 2563
  • กฟผ.มีแผนลงทุน 6,000 ล้านเหรียญเพื่อพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ขนาด 4,000 เมกะวัตต์
  • มีการลดขนาดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลงเหลือ 2,000 เมกะวัตต์ ในปี 2563 และ 2564 (PDP 2550 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2)

2553

  • PDP 2553 (2553-2573) ครอบคลุมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ขนาด 5,000 เมกะวัตต์  

2554

  • ในวันที่ 11 มีนาคม 2554 เกิดเหตุภัยพิบัติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ทำให้เกิดความกังวลระดับโลกเกี่ยวกับความปลอดภัยของพลังงานนิวเคลียร์  
  • ในเดือนพฤษภาคม 2554 คณะรัฐมนตรีไทยเห็นชอบ PDP 2553 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2  
  • ลดขนาดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลงเป็น 4,000 เมกะวัตต์ สำหรับปี 2566-2567 และ 2570-2571
  • ในวันที่ 19 มิถุนายน 2555 คณะรัฐมนตรีไทยเห็นชอบ PDP 2553 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3
  • ลดขนาดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลงเหลือ 2,000 เมกะวัตต์ ในปี 2569 และ 2560

2558

  • PDP 2558 (2558-2579) ครอบคลุมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ขนาด 2,000 เมกะวัตต์ ในปี 2578 และ 2579

2559

  • พระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. 2559 ได้รับความเห็นชอบจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

2561

  • PDP 2561 (2561-2560) ครอบคลุมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ขนาด 5,000 เมกะวัตต์ ในปี 2578 และ 2579
  • PDP 2561: ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (2561-2560) ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี วันที่ 20 ตุลาคม 2563
  • ตัดแผนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ออกจาก PDP ฉบับล่าสุด

แหล่งข้อมูล: รวบรวมจากหลายเว็บไซต์[8], [9], [10]

การพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศไทย

การตัดพลังงานนิวเคลียร์ออกไป สะท้อนถึงผลวัตทางการเมืองเกี่ยวกับการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย โดยอาจมีการรื้อฟื้นพลังงานนิวเคลียร์ในแผนดังกล่าวในเวลาใดก็ได้ในอนาคต หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศ โดยเฉพาะการแสวงหาการยอมรับและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่เชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยีนิวเคลียร์

ตามข้อมูลของ INIR Mission (Integrated Nuclear Infrastructure Review ในเดือนธันวาคม 2553) ประเทศไทยจะสามารถตัดสินใจอย่างมีความรู้เกี่ยวกับการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้[11]

ในระหว่างปี 2551-2554 ประเทศไทยได้เตรียมแผนการที่จะ “เริ่มผลิตพลังงานนิวเคลียร์รวมทั้งช่วงเตรียมโครงการและการศึกษาความเป็นไปได้ และการคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม[12] จากผลการศึกษาความเป็นไปได้ของบริษัทที่ปรึกษา Burns and Roe Asia Ltd จากสหรัฐฯ พบว่ามีพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 14 แห่งในหกจังหวัด[13] มีการใช้เงินทุน 38 ล้านเหรียญ เพื่อจ้างบริษัททำการศึกษาความเป็นไปได้ โดยเป็นเงินที่มาจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน และกฟผ.[14] ทั้งนี้ไม่รวมถึงขั้นตอนทั้งหมดของการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ตั้งแต่การเตรียมพร้อม การก่อสร้าง การปลดระวาง และขั้นตอนหลังการปลดระวาง ซึ่งจำเป็นต้องกำหนดงบประมาณที่เหมาะสมเพื่อความปลอดภัยในระยะยาว

ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนาเครื่องปฏิกรณ์ Olkiluoto 3 ในฟินแลนด์ ต้องประสบความล่าช้าหลายครั้ง และจัดทำได้สำเร็จหลังกำหนดเวลากว่า 12 ปี ทำให้เกิดต้นทุนส่วนเกินมหาศาล โดยประมาณการณ์ต้นทุนการก่อสร้างของ Olkiluoto 3 อยู่ที่อย่างน้อย 8.5 พันล้านยูโร ซึ่งถือว่าเป็นการก่อสร้างที่แพงสุดเป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ รองจากการก่อสร้างโรงแรมที่กรุงเมกกะ[15]

แต่การตัดแผนพลังงานนิวเคลียร์ออกไป ทำให้กลุ่มสนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์ไม่พอใจ ในบทความสั้นเกี่ยวกับ การวิเคราะห์แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า 2561 ซึ่งตัดพลังงานนิวเคลียร์ออกไป ของอัมพิกา อภิชัยบุคคล ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาระบบบริหารจัดการด้านพลังงาน​ปรมาณู สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้เขียนไว้ว่า

แผน PDP 2550-2558 เคยกำหนดให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นหนึ่งในแหล่งพลังงานทางเลือก เพื่อเป็นโรงไฟฟ้าหลัก ซึ่งจะทำให้เกิดความต่อเนื่องของความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ รวมทั้งการพัฒนาระเบียบ ความร่วมมือระหว่างประเทศ การมีส่วนร่วมในสนธิสัญญาและอนุสัญญาระหว่างประเทศ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การกำหนดไม่ให้มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในแผน PDP จึงตรงข้ามกับนโยบายที่จะลดก๊าซเรือนกระจก และเป็นการลดบทบาทและศักยภาพของประเทศไทยในการพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์[16]

บทความยังกล่าวเน้นต่อไปว่า

การพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สำหรับผลิตไฟฟ้าในปัจจุบัน ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10-15 ปี ด้วยเหตุดังกล่าวหากไม่มีการดำเนินงานตามนโยบายต่อไป จะทำให้ประเทศเสียโอกาสในการใช้พลังงานทางเลือกเป็นโรงไฟฟ้าหลัก รวมทั้งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีนิวเคลียร์[17]

ข้อร้องเรียนข้างต้นชี้ว่า ยังจำเป็นต้องมีการบรรจุพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของแผน PDP เพื่อประกันให้เกิดการผลิตไฟฟ้าของประเทศ การใช้คำว่า พลังงานทางเลือกเพื่ออธิบายถึงพลังงานนิวเคลียร์ ทำให้ดูเหมือนเป็นพลังงานที่มีความหวังและเป็นการมองโลกในแง่ดี แม้ว่าอาจจะมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

การต่อต้านในพื้นที่สำหรับแผนการพัฒนาเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย ที่ อ.องครักษ์

ประเทศไทยมีเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย ขนาด 2 เมกะวัตต์เพียงแห่งแรกและแห่งเดียวที่บางเขน กรุงเทพฯ โดยเริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปี 2505[18] เนื่องจากเครื่องปฏิกรณ์นี้มีอายุ 59 ปี และใกล้สิ้นสุดวาระการใช้งานในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จึงมีข้อเสนอให้จัดทำเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยขนาด 20 เมกะวัตต์ ที่ อ.องครักษ์ จ.นครนายก ซึ่งต่อมามีการชะลอโครงการไปกว่า 10 ปีที่แล้ว[19] ต่อมาทาง สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) [20] – องค์การมหาชนภายใต้รัฐบาลได้รื้อฟื้นโครงการนี้[21] ทางสถาบันอ้างว่าเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยขนาดใหญ่เครื่องนี้ จะเป็นประโยชน์ด้านการแพทย์ ดังที่ระบุด้านล่าง

“เหตุผลสำหรับการสร้างเครื่องปฏิกรณ์ใหม่ ก็คือจะเป็นการช่วยให้ประเทศประหยัดเงิน มิฉะนั้นจะต้องเสียตค่าใช้จ่ายไปกับการนำเข้าผลิตภัณฑ์กัมมันตรังสีเพื่อรักษาโรคมะเร็ง[22]

อย่างไรก็ดี ทางสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติได้ฟ้องคดีต่อบริษัท General Atomics (GA) ซึ่งทำให้เกิดปัญหาด้านความโปร่งใสสำหรับเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยที่ อ.องครักษ์

จนถึงปัจจุบัน คดีที่ฟ้องยังไม่ถึงจุดสิ้นสุด[23] นอกจากนั้น เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยแห่งนี้ยังตั้งอยู่ในเขตชุมชนและพื้นที่เกษตรกรรม โดยตั้งอยู่ห่างจากแม่น้ำนครนายกเพียง 600 เมตร[24] ทั้งยังมีคำถามเกี่ยวกับการจัดการกากกัมมันตรังสีและการมีส่วนร่วมของสาธารณะในโครงการนี้

สุธีร์ รัตนมงคลกุล หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อ.องครักษ์ กล่าวว่า มีความพยายามที่จะก่อสร้างเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย ที่ อ.องครักษ์มาสามครั้ง โดยในครั้งแรกเมื่อปี 2542 แต่ต้องพับโครงการไปเนื่องจากปัญหาการทุจริตและการต่อต้านจากชาวบ้าน ครั้งที่สองเกิดขึ้นเมื่อปี 2555 แต่ก็ต้องหยุดโครงการไปเนื่องจากการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรี มีการรื้อฟื้นโครงการนี้ใหม่เมื่อปี 2561 และมีการจัดการรับฟังความเห็นของประชาชนเมื่อเดือนธันวาคมในปีเดียวกัน 

“ปัจจุบันเรามีเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย ขนาด 2 เมกะวัตต์อยู่แล้ว เรายังไม่มีที่มากพอสำหรับเก็บกากกัมมันตรังสีเลย คำถามคือ ถ้าจะมีเครื่องปฏิกรณ์ที่ใหญ่ขึ้นอีก 10 เท่า เราจะต้องใช้ที่อีกมากแค่ไหนเพื่อเก็บกากกัมมันตรังสีได้อย่างปลอดภัย?” สุธีร์กล่าว

ประสงค์ ปานศรี สมาชิกเครือข่ายรักษ์นครนายกมรดกธรรมชาติ กล่าวว่า ก่อนจะทำโครงการใด ๆ ต้องมีการประเมินต้นทุนให้คุ้มค่าก่อน การประเมินโครงการเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย ที่ อ.องครักษ์ อยู่บนพื้นฐานข้อมูลเก่าตั้งแต่ปี 2553 โดยไม่คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรหรือความหนาแน่นของประชากรในพื้นที่รอบโครงการ ส่วนการประเมินครั้งใหม่ในปี 2560 และ 2563 เกิดขึ้นโดยเป็นความลับและไม่มีส่วนร่วมจากประชาชน จึงจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ต้นทุนกำไรในระยะยาวเช่นกัน หากไม่มีการพิจารณาพื้นที่รองรับกากกัมมันตรังสี ก็ไม่มีสถานที่จัดเก็บอย่างถาวร   

การประเมินต้นทุนกำไรเหล่านี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานข้อมูลเก่า ส่วนการประเมินอีกสองครั้งไม่ได้เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม จึงไม่ควรเดินหน้าโครงการนี้ต่อไป ประสงค์ กล่าว

สันติ โชคชัยชำนาญกิจ กลุ่มจับตาพลังงาน ซึ่งได้ติดตามข้อมูลพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศไทยมา 20 ปี กล่าวว่า กลุ่มสนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์ยังคงไม่หยุดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2551 มีการจัดตั้งหน่วยงานด้านพลังงานนิวเคลียร์เป็นการเฉพาะ ที่มีชื่อว่าสำนักงานพัฒนาโครงการพลังงานนิวเคลียร์ (NPPDO) แต่ยกเลิกไปในเวลาต่อมา

เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยที่บางเขนที่มีอายุเกือบ 60 ปี กำลังจะหยุดเดินเครื่อง แต่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายเครื่องปฏิกรณ์ออกไปได้ เนื่องจากมีการปนเปื้อนด้านกัมมันตรังสี ดังนั้น จึงมีแผนการก่อสร้างเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย ขนาด 20 เมกะวัตต์แห่งใหม่ที่ อ.องครักษ์ จ.นครนายก ตามการผลักดันของ สทน. ซึ่งถ้าประสบความสำเร็จ พื้นที่แห่งนี้จะเป็นแหล่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับพลังงานนิวเคลียร์ แต่ก็เป็นโครงการที่ถูกต่อต้านจากคนในพื้นที่

Nuclear Waste
กากกัมมันตภาพรังสีนิวเคลียร์

เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยผลิตกากกัมมันตรังสีเช่นกัน

เป็นที่ทราบกันดีว่าการวิจัยโดยใช้เครื่องปฏิกรณ์ จำเป็นต้องอาศัยแร่ยูเรเนียมในการปฏิบัติการ ในทำนองเดียวกันกับการเดินเครื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ด้วยเหตุดังกล่าว ความปลอดภัยและการกำจัดกากกัมมันตรังสีจึงยังคงเป็นข้อกังวลสำคัญสำหรับคนในพื้นที่และประชาชนทั่วไป ซึ่งจะเป็นผู้แบกรับผลกระทบหากเกิดภัยพิบัติขึ้นมา อีกประเด็นหนึ่ง คือ การกำจัดกากกัมมันตรังสี ซึ่งต้องใช้เวลา เป็นกระบวนการทางเทคนิคที่ซับซ้อน และต้องใช้เงินจำนวนมาก ขึ้นอยู่กับขนาดของภัยพิบัติที่เกิดขึ้น การกำจัดกากกัมมันตรังสีภายหลังหายนะที่ฟุกุชิมะเป็นตัวอย่าง ซึ่งคาดการณ์ว่าต้องมีการใช้เงินประมาณ 2 แสนล้านเหรียญ และใช้เวลาอย่างน้อย 30-40 ปี ทั้งนี้ ยังไม่รวมการจ่ายเงินชดเชย การลดความปนเปื้อนของสิ่งแวดล้อม และการจัดเก็บกากกัมมันตรังสีในระยะกลาง[25] แม้จะมีข้อกังวลเหล่านี้ และแม้จะมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตัดสินใจที่จะปล่อยน้ำซึ่งมีกากกัมมันตรังสี 1.23 ล้านตันลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก[26] ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการขาดความรับผิดชอบของรัฐบาล ในการบำบัดกากกัมมันตรังสีที่เป็นอันตรายร้ายแรง ซึ่งอาจปนเปื้อนห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศของโลก  

ปัจจุบันกากกัมมันตรังสีจากเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยที่บางเขน ถูกเก็บไว้ในบริเวณใกล้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ห่างจากสนามบินนานาชาติดอนเมืองเพียง 8 กิโลเมตร ซึ่งที่ตั้งเช่นนี้ไม่สอดคล้องตามมาตรฐานความปลอดภัยระหว่างประเทศ ซึ่งกำหนดให้เครื่องปฏิกรณ์ต้องตั้งอยู่ห่างจากสนามบินอย่างน้อย 16 กิโลเมตร[27] ที่จัดเก็บกากกัมมันตรังสีอีกแห่งหนึ่งอยู่ที่บริเวณคลอง 5 ปทุมธานี แต่มีพื้นที่จำกัด นอกจากนั้น ยังมีการขนส่งกากกัมมันตรังสีไปเก็บไว้ที่อาคารของ สทน. ที่ อ.องครักษ์โดยไม่แจ้งให้ประชาชนทราบ[28] ทั้งนี้ มีการเปิดโปงโดยกลุ่มต่อต้านนิวเคลียร์ในพื้นที่ที่นครนายก ซึ่งได้ไปกางเต็นท์นอนที่หน้า สทน. เป็นเวลาสองวัน (ระหว่างวันที่ 4-5 ตุลาคม 2562) เพื่อขอให้มีการสอบสวนการจัดเก็บกากกัมมันตรังสีเหล่านี้[29]

ก่อนจะเกิดหายนะที่ฟุกุชิมะ ประเทศไทยตื่นตัวที่จะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ อย่างไรก็ดี จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีการระบุถึงข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งแร่ยูเรเนียมและที่จัดเก็บแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่ใช้แล้ว รวมทั้ง แหล่งที่มาของยูเรเนี่ยม และสถานที่ที่จะจัดเก็บก็ยังไม่มีการกำหนด ทั้งนี้ มีการเสนอ 3 ทางเลือกในบทความ “Poster Session” ของ ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA): (1) การจัดเก็บในสระน้ำที่เปียกและถังบรรจุที่แห้ง (2) การจัดเก็บแบบรวมศูนย์เป็นการชั่วคราว และ (3) ที่จัดเก็บถาวร[30]

อย่างไรก็ดี เป็นที่น่ากังวลเพราะมีงานศึกษาจำนวนหนึ่งที่ระบุถึงปัญหาในการจัดการและการคุ้มครองกากกัมมันตรังสี ในประเทศที่มี “วัฒนธรรมด้านความปลอดภัย” ที่ยังอยู่ระหว่างการถกเถียง ศักยภาพในการจัดการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จึงยังคงเป็นข้อกังวลสำคัญ ดังที่ Tira Foran นักวิจัยที่ CSIRO Ecosystem Science กรุงแคนเบอร์รา ออสเตรเลีย กล่าวว่า

ในขณะที่ประเทศไทยกำลังหันไปสนใจพลังงานนิวเคลียร์ โดยให้เหตุผลว่าเป็นทางเลือก “สีเขียว” เพื่อจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เราต้องทำความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับความเสี่ยงและโอกาสของการขยายพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศที่มีศักยภาพจำกัดอย่างประเทศไทย"[31]  

ด้วยเหตุดังกล่าว หากประเทศไทยเลือกที่จะผลิตพลังงานจากนิวเคลียร์ จะทำให้เกิดปัญหาการจัดเก็บกากกัมมันตรังสีอย่างใหญ่หลวง จำเป็นต้องมีขั้นตอนปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยอย่างเข้มงวด แต่ก็เป็นที่น่าสงสัยว่าประเทศไทยจะสามารถดำเนินการด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าเช่นนั้นได้หรือไม่ 

การสร้างการยอมรับและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับพลังงานนิวเคลียร์

พลังงานนิวเคลียร์ในประเทศไทยถูกประชาชนต่อต้านมาตลอด แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามส่งเสริม “วัฒนธรรมแห่งความปลอดภัย” เพื่อสนับสนุนการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่ผ่านมาหน่วยงานที่สนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์ได้พยายามส่งเสริมการศึกษาและการอบรมทั้งที่มาจากในและนอกประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาแห่งแรก ๆ ที่ให้การศึกษาเรื่องนี้ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นโครงการที่จัดทำขึ้นระหว่าง กฟผ. กับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติในปี 2511 เพื่อสนับสนุนให้วิศวกรของ กฟผ.มีความรู้ที่ทันสมัย และได้ไปศึกษาในต่างประเทศโดยเฉพาะเกี่ยวกับเทคโนโลยีนิวเคลียร์[32]  

ตามรายงานข่าวของ Nikkei แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานให้ข้อมูลว่า พวกเขาได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปต่างประเทศ เพื่อศึกษาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ รวมทั้งในประเด็นการยอมรับของประชาชนในญี่ปุ่นและประเทศอื่น ๆ ดังนี้ [33]

"เราได้ส่งบุคลากรไปเข้ารับการอบรมในประเทศต่าง ๆ ซึ่งมีเทคโนโลยีนิวเคลียร์ และพิจารณาที่จะลงทุนในประเทศไทย พวกเขาให้โอกาสเราในการเข้าร่วมการสัมมนาและการอบรมในหลายประเด็นเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์" เขากล่าวโดยอ้างถึงประเทศจีนและบางส่วนของยุโรป” อนันตพร กาญจนรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน[34]

ประเทศไทยลงนามและให้สัตยาบันรับรองสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2560 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2564[35] บางคนอาจกล่าวว่า การสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทยเพื่ออนาคตของประเทศเป็นสิ่งที่ชอบธรรม เนื่องจากประเทศไทยสัญญาที่จะใช้เทคโนโลยีนี้เพื่อสันติเท่านั้น นอกจากนั้น ประเทศไทยยังเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้ง ASEANTOM (เครือข่ายหน่วยงานกำกับดูแลการใช้พลังงานปรมาณูในภูมิภาคอาเซียน) ซึ่งเป็นไปตามสนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พ.ศ. 2514 (SEANWFZ) ซึ่งเน้นการใช้วัสดุและสถานที่เกี่ยวกับนิวเคลียร์อย่างสันติ โดยไม่มีอคติ ตามที่กำหนดในข้อ 4 ของบทที่ว่าด้วย “สิทธิของรัฐภาคีในการใช้พลังงานนิวเคลียร์ โดยเฉพาะเพื่อการพัฒนาและเศรษฐกิจและความก้าวหน้าด้านสังคม"[36]

ในฐานะเป็นหนึ่งในสมาชิก ASEANTOM ประเทศไทยได้เข้าร่วมในการอบรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมความปลอดภัย ความมั่นคง และมาตรการป้องกัน โดยเน้นที่ความมั่นคงปลอดภัยของสารกัมมันตรังสีและการเตรียมพร้อมและการรับมือกับภาวะฉุกเฉิน[37]

คณะรัฐมนตรีไทยได้มีมติให้ความเห็นชอบกับร่างนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ว่าด้วยการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศไทย พ.ศ. 2560–2569[38] แหล่งข่าวที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติเปิดเผยถึงความสำคัญของแผนดังต่อไปนี้ 

"นโยบายและแผนยุทธศาสตร์ว่าด้วยการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศไทย มีเป้าหมายเพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับประชาคมระหว่างประเทศในการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในประเทศไทย แผนนี้มีความสำคัญต่อความมั่นคงปลอดภัยในการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ ทั้งในสถานการณ์ทั่วไปและสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งมีการแพร่ของกัมมันตรังสี ทั้งยังเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้ระบบการผลิต การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยขยายองค์ความรู้ในสังคมไทย และสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ตามยุทธศาสตร์หลักทั้งสี่ด้านได้แก่ (1) ความร่วมมือด้านนิวเคลียร์ (2) การกำกับดูแลและความปลอดภัยเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ (3) การผลิตและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานนิวเคลียร์ และ (4) พลังงานนิวเคลียร์เพื่อการพัฒนาประเทศดร.อัจฉรา วงศ์แสงจันทร์ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติกล่าว[39]

จากมุมมองของฝ่ายที่สนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์ ข้อความข้างต้นบ่งบอกบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งของพลังงานนิวเคลียร์ต่อการพัฒนาประเทศ แต่จากมุมมองของผู้ต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์ พวกเขาเห็นว่าแหล่งพลังงานนี้เป็นแนวโน้มที่สวนทางกับแนวโน้มระดับโลกที่หันมาใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น

anti nuclear demonstrators
การประท้วงต่อต้านนิวเคลียร์ในประเทศไทย

พลังงานนิวเคลียร์มีอนาคตในประเทศไทยหรือไม่?

เยอรมนีได้กำหนดกรอบเวลาที่จะยกเลิกการใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทุกแห่งภายในปี 2565 เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานหมุนเวียน อันที่จริงขบวนการลดการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในเยอรมนี เริ่มต้นตั้งแต่หลายทศวรรษก่อนที่รัฐบาลของแองเจลา แมร์เกิล จะตัดสินใจยกเลิกโครงการนิวเคลียร์ทั้งหมด ภายหลังเหตุหายนะที่ฟุกุชิมะที่ญี่ปุ่น[40] เบลเยียมและสวิตเซอร์แลนด์ก็มีแผนยกเลิกการใช้พลังงานนิวเคลียร์เช่นกัน[41]

ในขณะที่ผู้สนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์ยังคงมองว่าพลังงานนิวเคลียร์เป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าที่มีคาร์บอนต่ำ ให้ความมั่นคงด้านพลังงาน และสามารถบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ แต่อันที่จริงการใช้พลังงานนิวเคลียร์กำลังลดลง รายงานของ IAEA ระบุว่า “โดยภาพรวมแล้ว การคาดการณ์ใหม่ชี้ว่า พลังงานนิวเคลียร์กำลังประสบปัญหาในการรักษาสถานะที่เป็นส่วนหนึ่งของแหล่งพลังงานผสมผสานของโลก”[42] รายงานสถานะของอุตสาหกรรมพลังงานนิวเคลียร์โลกปี 2563 ยังชี้ว่า พลังงานนิวเคลียร์กำลังอยู่ในช่วงขาลง สวนทางกับพลังงานหมุนเวียนซึ่งเป็นที่นิยมมากขึ้น  

การพัฒนาและผลิตพลังงานหมุนเวียน ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 น้อยกว่าเมื่อเทียบกับพลังงานนิวเคลียร์ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 แหล่งพลังงานหมุนเวียนได้เพิ่มขึ้นประมาณ 3% ในขณะที่มีการเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 1.5% เมื่อคิดเป็นสัดส่วนแหล่งผลิตพลังงานโลก ในขณะที่แหล่งพลังงานนิวเคลียร์ลดลงประมาณ 3%[43]

ตามข้อมูลของสันติ โชคชัยชำนาญกิจ กลุ่มจับตาพลังงาน ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศไทยในตอนนี้ และไม่น่าจะเป็นประเด็นที่มีความสำคัญในระดับชาติในอีกหลายปีข้างหน้า ด้วยเหตุผลประการต่าง ๆ ประการแรก รัฐบาลไม่ได้ให้ความสนใจมากนักกับเทคโนโลยีนิวเคลียร์ เนื่องจากไปให้ความสำคัญกับโครงการอื่น ๆ รวมทั้งการสร้างเขื่อนในลาวเพื่อสร้างความหลากหลายของแหล่งพลังงาน นอกจากนั้น ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีพลังงานสำรองเหลือเป็นจำนวนมาก โดยคิดเป็นเกือบ 60% ซึ่งสามารถใช้ได้ในระยะ 10 ปีข้างหน้า เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า รัฐบาลไทยต้องยอมรับว่าจะทำให้เกิดการสูญเสียทั้งเวลาและการดำเนินงาน หากไปเพิ่มจำนวนปริมาณไฟฟ้าสำรอง ซึ่งที่ผ่านมาก็มีมากเกินพออยู่แล้ว

นอกจากนั้น ตามข้อมูลของ Energy News Center การเติบโตด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยยังไม่ตรงตามที่คาดหมาย อันเป็นผลมาจากโรคโควิด-19 ทำให้ปริมาณไฟฟ้าสำรองเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 50% เมื่อเทียบกับปริมาณตามมาตรฐานที่ 15% ทำให้มีปริมาณไฟเหลือเป็นจำนวนมาก โดยที่ประชาชนต้องแบกรับค่าไฟ และจะเป็นภาระเพิ่มเติมกับครัวเรือนต่าง ๆ[44]

ประการที่สอง ประชาชนไม่สนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์ ไม่คุ้มกับงบประมาณและความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งในบรรยากาศทางการเมืองของประเทศไทย รัฐบาลส่งเสริมให้เกิดการผูกขาดด้านพลังงาน โดยผ่านการผลักดันโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (IPP) ที่เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติ จึงไม่ได้ให้ความสำคัญกับพลังงานนิวเคลียร์ หรือไม่ได้สนใจกับปริมาณไฟฟ้าสำรอง โดยเน้นส่งเสริมโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ซึ่งจะทำให้การนำเข้าก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น สันติ โชคชัยชำนาญกิจ กล่าวว่า

ในปัจจุบัน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่ได้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่เป็นพลังงานของอดีต ไม่ใช่พลังงานของอนาคต แต่รัฐบาลยังคงพยายามผลักดันเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย ในขณะที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ประสบความถดถอย ปัจจุบันรัฐบาลพยายามมุ่งเน้นก๊าซธรรมชาติซึ่งกลายเป็นแหล่งเชื้อเพลิงสำคัญในโลก ในช่วงที่กำลังเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นพลังงานหมุนเวียน

ธารา บัวคำศรี กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อมองแนวโน้มระดับโลกเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ มีข้อถกเถียงว่าจะเป็นทางออกด้านความมั่นคงของพลังงานหรือไม่ กลุ่มผู้สนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์กล่าวว่า พลังงานนิวเคลียร์จะช่วยบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากไม่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก แต่ก็เป็นประเด็นที่มีข้อถกเถียง และต้องมีการแลกเปลี่ยนเพิ่มเติมในบริบทของภาวะโลกร้อน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์สามารถสร้างได้เร็วพอในเวลาอย่างน้อย 10 ปี เพื่อบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้หรือไม่?

ธารา เสริมว่า ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีพลังงานสำรองล้นเกินอยู่เสมอ พลังงานนิวเคลียร์จึงไม่ใช่คำตอบที่แท้จริงในแง่ที่เป็นแหล่งเชื้อเพลิงที่ผลิตไฟฟ้าเข้าระบบสายส่ง และเพื่อบรรเทาวิกฤตด้านสภาวะภูมิอากาศ เราต้องตระหนักว่า พลังงานนิวเคลียร์มาพร้อมกับความเสี่ยงที่อาจยังไม่เกิดขึ้นในรุ่นคนของเรา แต่อาจเกิดขึ้นในรุ่นคนต่อไป รวมทั้งการจัดการกากกัมมันตรังสีและความปลอดภัย  

ผมคิดว่าหากมีการคำนวณอย่างถูกต้อง หรือมีเทคโนโลยีนิวเคลียร์ใหม่ ๆ ก็ขึ้นอยู่กับว่าประชาชนและชุมชนไว้วางใจรัฐบาลหรือไม่ เราได้เห็นถึงสิ่งที่เกิดขึ้นที่ฟุกุชิมะ ซึ่งเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมความปลอดภัยและมีวินัยระดับสูง แต่ก็ยังเกิด [หายนะขึ้นมา] มีคนบอกว่าเพราะญี่ปุ่นเป็นที่ตั้งของรอยเลื่อน [ประเทศไทย] จึงไม่เหมือนกับฟุกุชิมะ เป็นการพูดที่ง่ายเกินไป ผมคิดว่า [โรงไฟฟ้านิวเคลียร์] ไม่เหมาะสมกับอนาคตของพลังงานที่ยั่งยืนในประเทศไทย

อย่างไรก็ดี สุธีร์ รัตนมงคลกุล หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อ.องครักษ์ บอกว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงสนับสนุนการก่อสร้างเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย เพื่อตอบสนอง โครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (EEC) นอกจากนั้น ถ้าพวกเขาสร้างเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยใหม่ได้ จะทำให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์

สันติ โชคชัยชำนาญกิจ ยังชี้ให้เห็นว่า ที่ผ่านมามีความพยายามส่งเสริมพลังงานสะอาดในบรรดาผู้กำหนดนโยบายของไทย แต่ปัญหาที่แท้จริงคือการผูกขาดการผลิตไฟฟ้า ซึ่งต้องได้รับการแก้ไข ไม่เช่นนั้น จะยังคงมีปัญหาเกี่ยวกับต้นทุนค่าไฟฟ้าและสิ่งแวดล้อมต่อไป นอกจากนั้น พลังงานหมุนเวียนต้องพึ่งพาเงินสนับสนุนจากรัฐบาล การลงทุนในพลังงานหมุนเวียนไม่ได้หมายความว่าผู้ที่ลงทุนจะมีความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้น ในแง่การบริโภคพลังงาน แม้ว่าจะมีแหล่งพลังงานที่สะอาดขึ้น แต่ก็ไม่มีประโยชน์ถ้าไม่มีการจัดการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุดังกล่าว จึงต้องแก้ไขปัญหาการผูกขาดพลังงาน ก่อนที่จะเน้นที่ประเด็นประสิทธิภาพพลังงาน 

ธารา บัวคำศรี กล่าวเสริมว่า แม้ว่าพลังงานหมุนเวียนจะเริ่มมีการพัฒนาขึ้นบ้างในประเทศไทย แต่ยังคงต้องพึ่งพาบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพในการลงทุน อย่างไรก็ตาม พลังงานหมุนเวียนเป็นหนทางที่ประเทศไทยควรพัฒนา ไม่ใช่เรื่องการเลือกเทคโนโลยีใดเทคโนโลยีหนึ่ง หากแต่ต้องเป็นระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด เป็นองค์รวมและกระจายอำนาจ กล่าวคือ รัฐบาลหรือบริษัทควรลงทุนในระบบสายส่งอัจฉริยะ เพื่อให้ประชาชนสามารถขายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้ หรือเพื่อสนับสนุนโครงการโซลาร์รูฟท็อป และระบบผลิตพลังงานร่วม ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมแหล่งพลังงานที่ยั่งยืน

เขายังกล่าวต่อไปว่า พลังงานนิวเคลียร์เป็นโครงการที่ใช้เวลาก่อสร้างนาน ทั้งยังเสี่ยงที่ต้นทุนจะบานปลาย ถ้าโครงการเลื่อนออกไป จะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น 

วันหนึ่ง เราจะตระหนักว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นสิ่งที่ล้าสมัยในอีก 10-20 ปีข้างหน้า จนถึงตอนนั้น ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีนิวเคลียร์จะเกือบยุติลง ที่ผ่านมามีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใหม่เพียงไม่กี่แห่งในยุโรปและอเมริกา และมีโครงการก่อสร้างเพิ่มอีกเพียงไม่กี่แห่งในตะวันออกกลาง โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องใช้เวลาก่อสร้างหลายทศวรรษ จึงไม่สามารถแข่งขันกับพลังงานหมุนเวียนได้ ทำให้เกิดปัญหากับตลาดพลังงาน รวมทั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

Wind and Solar
พลังงานหมุนเวียน เช่น แผงโซลาร์เซลล์และกังหันลม

บทสรุป

กล่าวโดยสรุป พลังงานนิวเคลียร์ไม่เพียงมีราคาแพง หากยังเป็นโครงสร้างที่ซับซ้อน ใช้เวลานานเพื่อก่อสร้างเนื่องจากข้อกังวลด้านความปลอดภัยและความมั่นคง นอกจากนั้น ยังมีความเสี่ยงที่ไม่อาจจัดการได้เกี่ยวกับกากกัมมันตรังสี ซึ่งประเทศต่าง ๆ ยังไม่สามารถแก้ไขได้  

เพื่อค้นหาแหล่งพลังงานที่ดีกว่าพลังงานนิวเคลียร์ ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญกับการยกเลิกการผูกขาดโครงสร้างการผลิตพลังงาน และส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ทางเลือกไปสู่พลังงานสะอาดและการกระจายโครงสร้างไฟฟ้า รวมทั้งพลังงานหมุนเวียน มีความสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน สำหรับการแก้ปัญหาวิกฤตสภาวะภูมิอากาศ และยังเป็นแหล่งพลังงานที่มีประสิทธิภาพและมีราคาเหมาะสมมากกว่าสำหรับประชาชนที่อยู่ห่างไกลที่ไม่มีสายส่ง

พลังงานนิวเคลียร์ถูกนำเสนอว่าเป็นทางเลือกที่แสนดี เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาแล้ว สามารถทำหน้าที่โรงไฟฟ้าหลักและเป็นทางออกให้กับวิกฤตสภาวะภูมิอากาศได้ อย่างไรก็ตาม คำอธิบายนี้ไม่ได้สะท้อนภาพรวมอย่างถูกต้อง เนื่องจากต้นทุนของการลงทุนและผลกระทบจากการก่อสร้างอยู่ในระดับที่สูงมาก การกำจัดกากกัมมันตรังสีเป็นสิ่งที่ไม่อาจคาดได้เลย หากเกิดอุบัติภัยขึ้นแบบโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล โรงไฟฟ้าทรีไมล์ไอแลนด์ และฟุกุชิมะ พลังงานนิวเคลียร์จะเป็นประโยชน์กับคนเพียงส่วนน้อย แต่ผลกระทบจากหายนะทางนิวเคลียร์จะเกิดขึ้นกับคนในรุ่นต่อไป และจะกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นเวลาหลายแสนปี ทำให้เกิดกากกัมมันตรังสีที่อันตรายและเป็นพิษในทุกขั้นตอนการผลิต รวมทั้งการทำเหมืองแร่ยูเรเนียมและการแปรรูปแท่งเชื้อเพลิงที่ใช้แล้ว[45] ข้ออ้างว่าพลังงานนิวเคลียร์จะช่วยแก้ไขวิกฤตสภาวะภูมิอากาศได้จึงไม่เหมาะสม

ด้วยเหตุดังกล่าว แม้ที่ผ่านมาจะมีการตัดพลังงานนิวเคลียร์ออกจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า แต่เรายังต้องจับตามองสถานการณ์ในประเทศไทย และความพยายามผลักดันพลังงานนิวเคลียร์ครั้งใหม่

ประวัติผู้เขียน

ทิพย์อักษร มันปาติ เป็นนักวิจัยซึ่งติดตามข้อมูลการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จบปริญญาตรีจากคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหลักสูตรศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาระหว่างประเทศ (หลักสูตรนานาชาติ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทิพย์อักษร เป็นคนเชื้อสายภูไท ในจังหวัดกาฬสินธุ์ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย สามารถพูดภาษาภูไท ลาว ไทย และอังกฤษ ติดต่อได้ที่: tipakson.m@gmail.com

บรรณานุกรม


[1] การเมืองของความรู้ในการวางแผนพลังงานพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศไทย (พ.ศ. 2550-2560) กับกรณีศึกษาจังหวัดอุบลราชธานี, ทิพย์อักษร มันปาติ, 2560 ลิขสิทธิ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. โปรดดู น. 37

[2] โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ความหวังหรือหายนะ? โดย iLaw (18 พฤษภาคม 2559). จาก https://ilaw.or.th/node/4123. (เข้าถึงเมื่อ 27 พฤษภาคม 2564)

[3] อ้างแล้ว โปรดดู น. 37

[4] อ้างแล้ว โปรดดู น. 17

[5] อ้างแล้ว โปรดดู น. 37

[6] อ้างแล้ว โปรดดู น. 39

[7] อ้างแล้ว โปรดดู น. 39

[8] กะเทาะ เปลือกโรงไฟฟานิวเคลียร:ทางออกของพลังงานทางเลือกจริงหรือ? ชื่นชม สง่าราศรี กรีเซ่น (29 มกราคม 2552) จาก https://palangthai.files.wordpress.com/2013/04/nuclear-komolseminar-tu22-2-09.pdf (เข้าถึงเมื่อ 27 พฤษภาคม 2564)

[9] ประเทศไทย รายงานประเทศ: การประชุมระดับรัฐมนตรี FNCA ครั้งที่ 15 (19 พฤศจิกายน 2014) จาก https://www.fnca.mext.go.jp/mini/report/15/Country%20Report_thailand.pdf (น. 4) (เข้าถึงเมื่อ 27 พฤษภาคม 2564)

[10] โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ความหวังหรือหายนะ? iLaw (18 พฤษภาคม 2559) (อ้างแล้ว)

[11] การพัฒนาโครงการพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศไทย นทีกูล เกรียงชัยพร ผู้อำนวยการฝ่ายเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณู การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) (22 มีนาคม 2561) จาก http://www.nst.or.th/JICC-EGAT-NST/Nuclear%20Power%20Development%20in%20ประเทศไทย.pdf. (เข้าถึงเมื่อ 27 พฤษภาคม 2564)

[12] ความรู้ทางการเมืองเกี่ยวกับการวางแผนพลังงานนิวเคลียร์ระดับชาติในประเทศไทย (2550-2560) รวมทั้งกรณีศึกษาในจังหวัดอุบลราชธานี (อ้างแล้ว) โปรดดู น. 38

[13] โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ความหวังหรือหายนะ? iLaw. (18 พฤษภาคม 2559) (อ้างแล้ว)

[14] การเมืองของความรู้ในการวางแผนพลังงานพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศไทย (พ.ศ. 2550-2560) กับกรณีศึกษาจังหวัดอุบลราชธานี (อ้างแล้ว) โปรดดู น. 42

[15] Olkiluoto 3 reactor delayed yet again, now 12 years behind schedule. (23 ธันวาคม 2562) จาก https://yle.fi/uutiset/osasto/news/olkiluoto_3_reactor_delayed_yet_again_now_12_years_behind_schedule/11128489. (เข้าถึงเมื่อ 27 พฤษภาคม 2564) 

[16] การวิเคราะห์แผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของประเทศ PDP 2561 กับการถอดไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์, อัมพิกา อภิชัยบุคคล ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาระบบบริหารจัดการด้านพลังงานปรมาณู, สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ไม่ระบุวันที่) (แปลโดยผู้เขียน). จาก https://bit.ly/3c3J3jq. (เข้าถึงเมื่อ 12 พฤษภาคม 2564)

[17] การวิเคราะห์แผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของประเทศ PDP 2561 กับการถอดไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์, อัมพิกา อภิชัยบุคคล ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาระบบบริหารจัดการด้านพลังงานปรมาณู, สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (อ้างแล้ว)

[18] Nuclear reactor saga rumbles on อัมพิกา อภิชัยบุคคล (6 กรกฎาคม 2563) จาก https://www.bangkokpost.com/thailand/general/1946404/nuclear-reactor-saga-rumbles-on. (เข้าถึงเมื่อ 27 พฤษภาคม 2564) 

[19] Nuclear reactor saga rumbles on อัมพิกา อภิชัยบุคคล (6 กรกฎาคม 2563). (อ้างแล้ว)

[20] Govt defends plan for nuclear reactorอัมพิกา อภิชัยบุคคล (11 สิงหาคม 2562) จาก https://www.bangkokpost.com/thailand/general/1728255/govt-defends-plan-for-nuclear-reactor. (เข้าถึงเมื่อ 27 พฤษภาคม 2564)  

[21] Nuclear reactor saga rumbles on อัมพิกา อภิชัยบุคคล (6 กรกฎาคม 2563) (อ้างแล้ว)

[22] Nuclear reactor saga rumbles on อัมพิกา อภิชัยบุคคล (6 กรกฎาคม 2563) (อ้างแล้ว)

[23] A saga of half-lives and half-truths ศุภรา จันทร์ชิดฟ้า. (26 กันยายน 2563) จาก https://www.bangkokpost.com/opinion/opinion/1991979/a-saga-of-half-lives-and-half-truths?. (เข้าถึงเมื่อ 27 พฤษภาคม 2564)

[24] ไม่โปร่งใส ไม่คุ้มค่า เสี่ยงก่อปัญหารังสีรั่วไหล: เปิดเหตุผล คนนครนายกไม่เอาเตานิวเคลียร์ (16 สิงหาคม 2563) จาก https://greennews.agency/?p=21636 (เข้าถึงเมื่อ 27 พฤษภาคม 2564)

[25] Japan revises Fukushima cleanup plan, delays key steps. (27 ธันวาคม 2562). จาก https://apnews.com/article/d1b8322355f3f31109dd925900dff200#:~:text=The%20government%20says%20Fukushima's%20decommissioning,trillion%20yen%20(%24200%20billion). (เข้าถึงเมื่อ 27 พฤษภาคม 2564)

[26] The Japanese government’s decision to discharge Fukushima contaminated water ignores human rights and international maritime law. (13 เมษายน 2564). จาก https://www.greenpeace.org/international/press-release/47207/the-japanese-governments-decision-to-discharge-fukushima-contaminated-water-ignores-human-rights-and-international-maritime-law/. (เข้าถึงเมื่อ 27 พฤษภาคม 2564)

[27] สิ่งนี้กำลังมาเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์องครักษ์ ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี. (18 กรกฎาคม 2563). จาก https://waymagazine.org/nuclear-reactor/. (เข้าถึงเมื่อ 27 พฤษภาคม 2564)

[28] ศรีสุวรรณ นำชาวนครนายกร้อง ... สอบ 2 หน่วยงานปมย้ายสถานที่เก็บกากกัมมันตรังสี (2 ธันวาคม 2562). จาก https://www.matichon.co.th/region/news_1779008 (เข้าถึงเมื่อ 27 พฤษภาคม 2564)

[29] สิ่งนี้กำลังมาเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์องครักษ์ ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี. (อ้างแล้ว)

[30] Thai Strategic Plan for Spent Fuel Management. (ไม่ระบุวันที่). จาก https://www-pub.iaea.org/MTCD/Publications/PDF/SupplementaryMaterials/P1661CD/Poster_Session.pdf. โปรดดู น. 53. (เข้าถึงเมื่อ 27 พฤษภาคม 2564)

[31] การเมืองของความรู้ในการวางแผนพลังงานพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศไทย (พ.ศ. 2550-2560) กับกรณีศึกษาจังหวัดอุบลราชธานี, ทิพย์อักษร มันปาติ, 2560 ลิขสิทธิ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. โปรดดู น. 67

[32] การเมืองของความรู้ในการวางแผนพลังงานพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศไทย (พ.ศ. 2550-2560) กับกรณีศึกษาจังหวัดอุบลราชธานี, ทิพย์อักษร มันปาติ, 2560 ลิขสิทธิ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. โปรดดู น. 42

[33] Thailand ponders nuclear power with China. (4 กรกฎาคม 2559). จาก https://asia.nikkei.com/Economy/thailand-ponders-nuclear-power-with-China. (เข้าถึงเมื่อ 27 พฤษภาคม 2564) 

[34] Thailand ponders nuclear power with China. (4 กรกฎาคม 2559). (อ้างแล้ว)

[35] Nuclear-weapon-free states. (ไม่ระบุวันที่). จาก https://www.icanw.org/thailand. (เข้าถึงเมื่อ 27 พฤษภาคม 2564)

[36] สนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ไม่ระบุวันที่). จาก https://asean.org/?static_post=treaty-on-the-southeast-asia-nuclear-weapon-free-zone  อ้างถึงใน การเมืองของความรู้ในการวางแผนพลังงานพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศไทย (พ.ศ. 2550-2560) กับกรณีศึกษาจังหวัดอุบลราชธานี, ทิพย์อักษร มันปาติ, 2560 ลิขสิทธิ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. โปรดดู น. 61.

[37] About us (ไม่ระบุวันที่). จาก http://www.oap.go.th/en/about-us/about-us. (เข้าถึงเมื่อ 27 พฤษภาคม 2564)  

[38] ปส. เผยแผนพัฒนานิวเคลียร์ ปี 60- 69 เพื่อคนไทย ยึดนโยบายรัฐ ไทยแลนด์ 4.0 – ประชารัฐ. (1 มิถุนายน 2560). (แปลโดยผู้เขียน) จาก https://www.oap.go.th/component/content/article/98-thai/information/news/584-60-69-4-0?Itemid=528. (เข้าถึงเมื่อ 27 พฤษภาคม 2564) 

[39] ปส. เผยแผนพัฒนานิวเคลียร์ ปี 60- 69 เพื่อคนไทย ยึดนโยบายรัฐ ไทยแลนด์ 4.0 – ประชารัฐ. (1 มิถุนายน 2560). (อ้างแล้ว)

[40] Germany's nuclear phaseout explained by Rebecca Staudenmaier. (15 มิถุนายน 2560). จาก https://www.dw.com/en/germanys-nuclear-phaseout-explained/a-39171204. (เข้าถึงเมื่อ 27 พฤษภาคม 2564) 

[41] Phasing Out Nuclear Energy in Europe by Rolf Golombek, Finn Roar Aune and Hilde Hallre Le Tissier. Working Paper 05/2015. จาก https://webcache.googleusercontent.com/search?q=cache:3q5gY4IPLjUJ:https://www.cree.uio.no/publications/CREE_working_papers/pdf_2558/aune_golombek_tissier_phasing_out_cree_wp05_2558.pdf+&cd=15&hl=en&ct=clnk&gl=th. (เข้าถึงเมื่อ 27 พฤษภาคม 2564)

[42] New IAEA Energy Projections See Possible Shrinking Role for Nuclear Power (10 กันยายน 2561) จาก https://www.iaea.org/newscenter/pressreleases/new-iaea-energy-projections-see-possible-shrinking-role-for-nuclear-power. (เข้าถึงเมื่อ 27 พฤษภาคม 2564)  

[43] The World Nuclear Industry Status Report 2563 by Mycle Schneider et al. จาก

https://www.worldnuclearreport.org/IMG/pdf/wnisr2020-v2_lr.pdf. โปรดดู น. 32 (เข้าถึงเมื่อ 27 พฤษภาคม 2564)

[44] ไฮไลท์พลังงาน 2563 (29 ธันวาคม 2563) จาก https://bit.ly/3mCoL5u (เข้าถึงเมื่อ 27 พฤษภาคม 2564)

[45] พลังงานนิวเคลียร์ (ไม่ระบุวันที่) จาก https://www.greenpeace.org.uk/challenges/nuclear-power/ (เข้าถึงเมื่อ 27 พฤษภาคม 2563)